May 23, 2008

Ludwig van Beethoven - Piano Sonata No. 14 in C♯ minor, Op. 27, No. 2 "Moonlight"



I. Adagio sostenuto (6:00 นาที)

ท่อนที่หนึ่งอยู่ในอัตราช้าพอประมาณ และให้เล่นโน้ตยาวเกินค่าของมันเล็กน้อย การที่ท่อนแรกอยู่ในอัตราช้านั้น เป็นการฉีกแนวการแต่งเพลงโซนาตาโดยทั่วไป เพราะท่อนแรกมักจะอยู่ในจังหวะเร็วเสียส่วนมาก

และท่อนแรกนี้เอง ที่ทำให้เพลงนี้มีชื่อว่า "Moonlight" เนื่องจากกวีนามว่าเร็ลชตาบ ฟังแล้วนึกไปถึงแสงจันทร์ที่ทะเลสาบลูเซิร์น โน่น แหม... เรื่องราวมันน่าชวนฝันเสียจริงเลยครับ แต่ผมว่ามันคงเป็นฝันอันแสนเศร้านะ เพราะท่วงทำนองของเพลงนี้มันโศกเศร้าอาดูรเสียเหลือเกิน อารมณ์ประมาณคนอกหักจะขาดใจตายมองพระจันทร์ยังไงยังงั้นเลยครับ ก็น่าสงสัยว่านายเร็ลชตาบนี้เคยอกหักแล้วพร่ำเพ้อมองพระจันทร์หรืออย่างไรกัน ถึงได้บรรยายว่าเห็นแสงจันทร์ส่องออกมาซะหนิ

II. Allegretto (2:30 นาที)

ท่อนที่สองของเพลงนี้มีการเปลี่ยนบันไดเสียงเป็นดีแฟล็ตเมเจอร์ ซึ่งเป็นบันได้เสียงเอ็นฮาร์โมนิกกับบันไดเสียงซีชาร์ปเมเจอร์ ท่อนนี้อยู่ในอัตราค่อนข้างเร็วและบรรเลงต่อจากท่อนแรกโดยไม่มีการหยุดพัก

เป็นท่อนสั้นๆ ที่ฟังสบายๆ อารมณ์แตกต่างกับท่อนแรกโดยสิ้นเชิงครับ คลัายกับว่าคนอกหักคนนั้นหลับตาลงเพื่อลืมเรื่องราวร้ายๆ ที่ได้ผ่านมา แล้วฝันรำลึกถึงความหลังอันสวยงามครั้งรักยังหวานชื่น ความสดใสของท่อนนี้มีมากเสียจนลิสต์เปรียบเปรยว่ากำลังเดินเล่นอยู่ในสวนดอกไม้เชียวครับ

III. Presto agitato (7:00 นาที)

ท่อนสุดท้ายกลับมาอยู่ในบันไดเสียงซีชาร์ปไมเนอร์ตามแบบแผนปรกติ อยู่ในอัตราเร็วมากและเร่าร้อน เนื้อหาของท่อนนี้มีมากกว่าท่อนอื่นๆ

พอเข้าท่อนสุดท้าย อารมณ์ของเพลงก็พลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ เหมือนกับคนที่โกรธเป็นผืนเป็นไฟเพราะผิดหวังในความรัก หลังจากรู้แน่ชัดแล้วว่ายังไงรักนี้ก็ไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก ก็อาละวาดทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า (อันว่าความรักนี้บรรดาลให้คนทำได้ทุกอย่างจริงๆ) หลังจากอาละวาดจนหมดแรงแล้ว ก็ขอลาจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีสิ่งใดๆ ค้างคาใจอีก

May 11, 2008

เรื่องสั้นแนวลองทด เอกลักษณ์การคูณ

หมายเหตุ: สามารถนำโครงเรื่องไปใช้ต่อได้ตามสะดวกนะครับ

วันก่อนผมไปร้านหนังสือหวังว่าจะหาอะไรมาอ่านเล่น แต่แล้วก็กลับหาไม่ได้ซักเล่มเลย สงสัยว่าช่วงนี้อิ่มตัวกับการอ่านอยู่มั้งครับ
เดินไปเดินมาก็เห็นหนังสือของคุณวินทร์เล่มนึงชื่อ "ยาแก้สมองผูกตราควายบิน" เลยลองพลิกๆ ดู จึงได้ข้อคิดว่า ถ้ายังไม่รู้จะอ่านอะไร ก็เขียนซะเองเลยสิ
ผมจึงค้นลิ้นชักความทรงจำของผมดูว่าเคยคิดเรื่องอะไรไว้บ้าง แล้วก็ "ทด" ลงมาไว้ให้อ่านกันครับ ถ้าถูกใจอันไหน จะหยิบไปแต่งต่อ/ดัดแปลง/เพิ่มรายละเอียดก็ไม่ว่ากันครับ
ขอให้มีความสุขกับการจินตนาารนะครับ ^^

Story:
พนักงานขายเปียโนไม่มีความสามารถทางดนตรีเลย แต่เขาก็แอบฝึกเล่นเปียโนทุกๆ วันเมื่อไม่มีลูกค้า จนวันหนึ่งตอนใกล้ปิดร้านซึ่งไม่น่ามีใครแล้ว เด็กคนหนึ่งได้ยินเสียงเปียโนที่เขาเล่น และได้สมัครตัวเป็นลูกศิษย์ แล้วทั้งคู่จึงได้เริ่มเรียนเปียโนไปด้วยกัน

My Comment:
1. เรื่องราวประเภทนี้ค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จพอสมควร คือเริ่มจากไม่เก่ง->มีการพัฒนา->เก่ง จึงควรหาจุดอื่นมาทดแทนความจำเจ เช่น มิติของตัวละคร
2. เนื่องจากเรื่องนี้เกียวกับดนตรี (ที่เลือกเปียโนเพราะดูแลรักษาง่ายสุด ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเครื่องเป่าสิ) จึงควรให้ความสำคัญกับดนตรีมากๆ หน่อย อาจให้ดนตรีเป็นตัวเดินเรื่องเลยยิ่งดี
3. บางทีถ้าต้องการทิ้งสูตรสำเร็จจากข้อแรกที่ว่า "ไม่เก่ง->มีการพัฒนา->เก่ง" ก็อาจทำการสลับด้าน เช่น นักดนตรีระดับโลกเกษียญตัวเองแล้วเปิดร้านดนตรีในที่ห่างไกลผู้คนรบกวน แต่แล้วโรคความจำเสื่อมก็ทำให้เค้าเล่นเปียโนฝีมือตกลงทุกวัน เค้าจึงคิดจะถ่ายทอดความรู้แก่รุ่นถัดไปให้ได้มากที่สุด

อธิบายชื่อตอน "เอกลักษณ์การคูณ"
ทางคณิตศาสตร์ เอกลักษณ์คือ การที่สมาชิกในเซตกระทำกับตัวดำเนินการและตัวเอกลักษณ์แล้ว จะได้สมาชิกตัวเดิมในเซตนั้น และต้องมีสมบัติการสลับที่ด้วย แปลงเป็นสัญลักษณ์ได้คือ a*I = a = I*a (* คือตัวดำเนินการ และ I คือเอกลักษณ์)
สำหรับตัวดำเนินการที่เป็นการคูณ จะได้ว่า ax1 = a =1xa ซึ่งหมายความว่า 1 คือเอกลักษณ์การคูณนั่นเอง
อนึ่ง ผมตั้งชื่อตอนไปตามความสนใจทางคณิตศาตร์ จึงไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องแต่อย่างใดครับ :-P

May 7, 2008

บทเพลงคลาสสิกแต่ละยุคสมัยที่ควรรู้จัก

ได้ฤกษ์เขียนบล๊อกต่อซักที หลังจากดองไว้นานโข
คราวนี้จะมาเขียนเกี่ยวกับเพลงคลาสสิกครับ ^^
จาก 3 ตอนที่แล้ว ผมลองดูว่ามีอะไรตกหล่นบ้าง
ก็พบจุดใหญ่อย่างนึงเลย คือยุคของเพลงครับ

แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียดยิบย่อยยุคต่างๆ ต่อไปนั้น
เห็นทีจะต้องอธิบายคำว่า "เพลงคลาสสิก" ซะก่อน
(เขียนไว้กันงงกับชื่อยุคข้างล่างที่เหมือนกันครับ)

คำว่า คลาสสิก คือ สิ่งที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าดีจริง
เมื่อนำมาใช้ทางดนตรี ก็คือดนตรีที่ถูกแต่งมาอย่างดี
มีระเบียบแบบแผนในตัวมันเอง (ไม่ได้มั่วๆ ออกมา)
เพลงพวกนี้จึงไม่ตายไปตามเวลา (ของดีอยู่ได้นาน)

เมื่อรู้ความหมายของเพลงคลาสสิกแล้ว ก็มาดูยุคกันเลย

ยุคกลาง (500-1400)
บทเพลงที่เหลือบันทึกไว้มักเป็นเพลงร้องทางศาสนา
เพลงมีรูปแบบเรียบง่าย เครื่องดนตรีมีได้แค่ชนชั้นสูง
และการบันทึกเพลงไม่เป็นที่นิยม เพราะกระดาษแพง
บทเพลงชุดที่มีการรวบรวมไว้คือ บทสวดเกรกอเรียน
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น กวิโด ฮิลเดการ์ด

ยุคเรเนสซองส์ (1400-1600)
เริ่มวางรากฐานการประสานเสียงและดนตรีหลายแนว
การบันทึกโน้ตเริ่มแพร่หลาย ทำการศึกษาเพลงได้ง่าย
และเริ่มมีการแต่งเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีขึ้น
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น ปาเลสตรินา กาบริเอลี

ยุคบาโรก (1600-1760)
เป็นยุคที่เริ่มมีการวางระเบียบแบบแผนเข้าไปในเพลง
บทเพลงจึงมีเอกภาพ และการที่ศาสนจักรให้ความสำคัญ
ทำให้ดนตรีเพื่อศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในยุคนี้
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น มอนเตแวร์ดี วิวัลดี แฮนเดล บาค

ยุคคลาสสิก (1730-1820)
เป็นยุคที่กฏเกณฑ์ทางดนตรีถูกพัฒนาขึ้นมาจนสูงสุด
บทเพลงพยายามหาจุดที่ดนตรีมีความสวยงามสมบูรณ์
ช่วงนี้เพลงส่วนมากแต่งขึ้นมาเพื่อรับใช้เจ้านายในวัง
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น ไฮเดิน โมสาร์ท เบโทเฟน ชูเบิร์ต

ยุคโรแมนติกตอนต้น (1800-1850)
นักแต่งเพลงไม่ได้แต่งเพลงเพื่อถวายเจ้านายอีกแล้ว
จึงเริ่มแต่งเพลงที่ไม่จำเป็นต้องสวยงามอย่างเดียว
แต่เป็นเพลงสะท้อนอารมณ์ มีทั้งความสุขและเศร้า
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น เมนเดลโซน โชแปง ชูมันน์ ลิสต์

ยุคโรแมนติกตอนปลาย (1850-1910)
เนื่องจากยุคโรแมนติกเป็นช่วงที่บทเพลงน่าฟังมาก
จึงแบ่งได้หลายช่วง โดยช่วงนี้เป็นช่วงของชาตินิยม
เพลงทั้งหลายจึงมีกลิ่นอายของความรักชาติอยู่ด้วย
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น วากเนอร์ บรามส์ ไชคอฟสกี ซิเบลิอุส

ยุคโรแมนติกในศตวรรษที่ 20 (1910-1950)
ถึงแม้ช่วงนี้จะมีเพลงเนวใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย
แต่ยังมีนักแต่งเพลงที่ยังคงซาบซึ้งกับยุคโรแมนติกอยู่
จึงได้หาวิธีแต่งเพลงแนวโรแมนติกในรูปแบบใหม่ๆ
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น รัคมานินอฟ โฮลซต์

ยุคอิมเพรสชัน (1890-1940)
ยุคนี้ไม่ใช่ยุคใหญ่ครับ เพียงแต่ผมชอบเป็นพิเศษ ^^
เพลงยุคนี้จะว่าไปก็เหมือนกับภาพแนวอิมเพรสชัน
เป็นเพลงที่มีความลึกลับ เลือนลาง ชวนค้นหา
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น เดอบุสซี ราเวล

ยุคศตวรรษที่ 20 (1900-2000)
นักแต่งเพลงปฏิวัติการแต่งเพลงเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เช่น นำทำนองเพลงพื้นบ้านมาดัดแปลงใส่ในบทเพลง
หรือแต่งเพลงโดยไม่อิงเสียงหลัก แต่ใช้โน้ตทั้ง 12 ตัว
คีตกวีเด่นในยุคนี้เช่น เชินแบร์ก บาร์ตอก เคจ

ทั้งหมดที่สำคัญๆ ก็มีเท่านี้หละครับ
และนี่คงเป็นบทความสุดท้ายที่เขียนพื้นฐานแล้วครับ
คราวหน้าจะพาไปฟังเพลงดีกว่า ติดตามด้วยเน้อ ^^