Feb 27, 2016

AI รู้ตัวเองหรือไม่ว่าเป็น AI?

เห็นข่าว AlphaGo ชนะคนก็ดีใจระดับหนึ่ง แล้วก็มานั่นรำลึกความหลังเมื่อครั้งตัวเองยังเล่นโกะบ่อยๆ

คือโกะเนี่ย มันยากกว่าเกมอื่นเนื่องจากความเป็นไปได้ที่สูงมากๆ คิดแบบหยาบๆ เร็วๆ คือ ตอนเริ่มเกมจะมีตำแหน่งว่างให้เลือกเล่นได้ 19x19 จุด แต่ละตาที่ผลัดกันวางหมาก อาจลดหรือเพิ่มจำนวนจุดว่างพวกนั้นก็ได้ (แต่จะไม่มีจุดว่างมากเกินกว่าจำนวนจุดตั้งต้น) เกมๆ นึงเฉลี่ยแล้วจะเล่นกันที่ประมาณ 200 หมาก คิดตามนี้ก็จะบอกได้ว่า จำนวนรูปแบบเกมที่เป็นไปได้ทั้งหมดมีประมาณ (19x19)^200 = 3x10^511 แบบ ด้วยตัวเลขที่ใหญ่ระดับนี้ ความเป็นไปได้ของเกมจะมีสูงพอๆ กับการถามว่ามีวิธีกี่วิธีในการเลือกอะตอมมา 7 อะตอม จากอะตอมทั้งหมดในจักรวาลที่สังเกตได้ (หรือกล่าวอีกนัยนึงก็คือ การจะหาผลลัพธ์ของเกมโกะที่ดีที่สุดให้พบนั้น ก็ไม่ต่างจากการหาดราก้อนบอลที่มีขนาดเท่ากับอะตอมให้ครบทั้ง 7 ลูกนั่นเอง)

ดังนั้นการเรียนโกะจึงต้องพิจารณาเป็นส่วนย่อยๆ ของเกมเอา อย่างมือใหม่เริ่มเล่นโกะเลยเนี่ย จะใช้กระดานที่มีจุดว่างเพียง 9x9 จุดแทน เพื่อลดความซับซ้อนของตาเดินที่เป็นไปได้ลง และเรียกเทคนิคการวางหมากด้วยคำต่างๆ ตามรูปแบบของหมากบนกระดาน เช่น ถ้าหมากบนกระดาน 2 หมากวางห่างกันโดยเว้นช่องว่าง 1 จุด ก็เรียก กระโดด 1 จุด แล้วจึงศึกษาความเป็นไปได้ของส่วนย่อยๆ ในเกมผ่านเทคนิคพวกนี้ เพื่อที่จะได้เอาไปประยุกต์ใช้กับกระดานขนาดใหญ่ต่อไป

พอเริ่มปีกกล้าขาแข็งแล้ว การเรียนโกะในขั้นที่สูงขึ้นจะเปลี่ยนไปใช้คำพูดแบบที่อ้างอิงกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตแทน เช่น หมากตานี้เป็นการท้าต่อยท้าตี หมากตานี้ช่วยเพื่อนพ้องหนีจากวงล้อม นักเล่นโกะแต่ละคนก็จะมีแนวทางการเล่นเฉพาะตัวตามคำพูดเหล่านั้น เช่น คนนี้รักสงบ คนนี้ชอบต่อสู้ คนนี้เป็นนักฉวยโอกาส

เราพัฒนาเทคนิคการเล่นและการใช้คำพูดเหล่านี้ขึ้นมา เพราะเรารู้ว่า เรามีเวลาไม่มากพอที่จะจำลองเหตุการณ์ทั้งหมดเพื่อหาตาเดินที่ดีที่สุดได้ ...

ทีนี้ลองดูตัวอย่างในทางกลับกันบ้าง เกมที่ง่ายสุดๆ ไปเลยอย่างเอ็กซ์โอ มันมีช่องว่างเพียงแค่ 9 ช่องและเล่นได้ไม่เกิน 9 ตาเท่านั้น เราสามารถแจกแจงกรณีทั้งหมดออกมาได้ และตอบได้ว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเมื่อทั้งสองฝ่ายเล่นอย่างสุดฝีมือคือเสมอ … อันที่จริง แผนภาพต่อไปนี้ได้บรรจุวิธีการเล่นที่ดีที่สุดทั้งหมดไว้แล้ว


เกมที่แทบไม่มีความซับซ้อนอะไรเลยแบบนี้ เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคิดค้นเทคนิคการเล่นหรือชื่อเรียกอะไรให้วุ่นวาย แค่จดทุกวิธีที่เป็นไปได้ไว้ แล้วเปิดบันทึกนั้นดูว่าควรทำอย่างไรเมื่ออีกฝ่ายเล่นแบบนี้แบบโน้นก็พอแล้ว



การเรียนโกะของ AI อาจต่างออกไป (อย่างน้อยก็สำหรับ AI เฉพาะทางที่เล่นได้แต่โกะอย่างเดียว) เพราะข้อมูลที่ป้อนให้ AI จะเหลือเพียงแค่รูปแบบหมากบนกระดานเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเทคนิคต่างๆ กำกับแบบตอนสอนมนุษย์ ปล่อยให้ AI เรียนรู้เอาเองว่าการเดินแบบไหนดีกว่ากัน

คำถามคือ AI แบบนี้จะมีความรู้สึกนึกคิดอะไรนอกเหนือจากการเล่นโกะบนกระดานมั้ย? มันจะรู้ตัวหรือเปล่าว่าตอนนี้มันกำลังเล่นโกะอยู่ ถ้ารู้ตัวแล้วมันจะสามารถขัดขืนความคิดในการเล่นโกะแล้วเอามาคิดอย่างอื่นได้มั้ย? ถ้ามันคิดอย่างอื่นได้ มันจะคิดออกหรือเปล่าว่ามีโลกภายนอกหรือมิติที่สูงกว่าอยู่? ถ้ามันรู้ว่ามีมิติที่สูงกว่าอยู่ มันจะแสดงท่าทีอย่างไร? จะเล่นแบบสุ่มตาเดินมั่วๆ เพื่อแสดงการขัดขืนต่อธรรมชาติหรือเปล่า? จะจงใจเล่นแพ้เพื่อเรียกร้องความสนใจมั้ย? จะพยายามส่งรหัสกลับมาเพื่อบอกว่ามันฉลาดและรู้ตัวมั้ย? หรือจะเฉยเมยเล่นโกะต่อไปไม่ยอมให้ใครในโลกภายนอกได้รับรู้?

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพด้วยเกมเอ็กซ์โอ ให้คนเป็นฝ่ายเริ่มและเลือกกากบาทตาแรกสุดที่ช่องตรงกลาง AI จะตอบด้วยการวาดวงกลมที่มุมซ้ายบนเสมอ เพราะนั่นเป็นตำแหน่งแรกของหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ที่มันเข้าถึงได้หรือเปล่า? หรือจะสุ่มวงกลมมั่วๆ จากทั้ง 4 มุมที่เหลือ? หรือว่าจะมีมุมที่ชื่นชอบเป็นพิเศษและเลือกวงกลมที่มุมนั้นตลอด? หรือว่าจะเล่นตรงขอบใดขอบหนึ่งแม้รู้ว่านั่นจะทำให้มันแพ้แน่นอน?

และถ้า AI แสดงท่าทีตามนั้นจริง เราจะตีความการกระทำเหล่านั้นออกหรือเปล่า ว่า AI กำลังสื่อสารอะไรกับเรากันแน่?

ถามบ้าบออะไรเนี่ย ชาตินี้ถึงตายก็ตอบไม่ได้หรอก ... ไม่ได้เกิดเป็น AI เล่นโกะตัวนั้นนี่หน่า :v

Feb 22, 2016

Cabaret

Cabaret เป็นละครเพลงจากบรอดเวย์ที่ดังพอควรเรื่องหนึ่งครับ ความนิยมของมันก็น่าจะการันตีได้จากการเปิดแสดงมาตั้งแต่ 1966 จนถึงปัจจุบัน และถูกดัดแปลงเป็นหนังในปี 1972

พอดีโรงละคร Black Box Theater มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้นำบทละครเรื่องนี้มาแปลเป็นภาษาไทยและจัดแสดง งานนี้ @Linghokkalom ได้ตั๋วมาฟรีเลยไม่พลาดครับ


ดูแล้วได้ความรู้สึกประมาณดูหนังเรื่อง Cicago + Burlesque + The Sound of Music อยู่ชอบกล เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มืดหม่นกว่าเยอะอยู่

ละครยาวประมาณสามชั่วโมงครึ่งครับ แต่เพราะบทมีทั้งช่วงเครียดและฮาสลับกันตลอด ก็ทำให้ดูเพลินจนลืมเวลาไปเลย

จะเสียอย่างตรงที่องก์ 2 สั้นกว่าองก์ 1 อย่างเห็นได้ชัด ทำให้รู้สึกไม่อิ่มเท่าไหร่ ดูไปแล้วก็ตกใจ เฮ้ย จบแล้วเรอะ! (ทั้งๆ ที่ก็สรุปทุกอย่างมาสมบูรณ์นะ ไม่ได้ตัดจบแต่อย่างใด)

แต่ความเท่ที่ลืมไม่ได้เลยคือการจัดที่นั่งครับ คือถ้าเป็นโรงละครใหญ่ๆ ทั่วไปก็มีแยกส่วนเวทีกับสโลปที่นั่งชัดเจน แต่พออันนี้เป็นโรงละครเล็ก เค้าก็จัดที่นั่งและบรรยากาศเป็นแบบในผับบาร์จริงๆ เลย (โต๊ะกลม+เก้าอี้บาร์แบบเตี้ย+ไฟสลัวสีส้ม) พอถึงบทที่มีคนเต้นประกอบเยอะๆ ก็จะไม่ใช้แค่พื้นที่บนเวทีอย่างเดียว แต่ลงมาเล่นกับผู้ชมด้วย


สรุปแล้วชอบมากครับ โอกาสหน้าไม่พลาดแน่นอน

Feb 15, 2016

Cogito ergo sum

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำพูดของ Descartes ที่ว่า Cogito ergo sum ในรูปของภาษาอังกฤษว่า I think, therefore I am มากกว่า

คำพูดด้านบนนั้น เกิดขึ้นเพื่อพยายามจะตอบคำถามว่า สิ่งใดบ้างที่เชื่อได้ว่ามีจริง?

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่เห็นจำเป็นต้องถาม ทำไมจะเชื่อไม่ได้ว่าสิ่งต่างๆ ไม่มีจริงหละ?

ลองสมมติสิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวเราออกไปก่อน อย่างเช่นหลุมดำมีจริงหรือเปล่า มองก็มองไม่เห็น นั่งยานอวกาศไปหาก็ไม่ได้ มันมีจริงหรือเปล่า?

แล้วสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราขึ้นมาบ้างหละ อย่างเช่นคอมพิวเตอร์/มือถือที่ใช้เปิดอ่านบทความนี้ ลูกฟุตบอลที่เราเตะ เพลงที่เราฟังเป็นประจำ อาหารจานโปรดที่เราได้กลิ่นและลิ้มรส มันมีจริงหรือเปล่า?

แม้กระทั่งตัวเราเองหละ มือของเรานี้มีจริงหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่กระแสประสาทส่งเข้าสมองแบบในเรื่อง The Matrix เท่านั้น?

สุดท้ายเราจะเชื่ออะไรได้บ้างว่ามีจริง? ตอนนี้ Descartes ตอบไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า อย่างน้อยๆ "การมีอยู่ของเรา" นั้นแหละ เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน (เพราะเรากำลังคิดอยู่)

ส่วนวิธีการให้เหตุผลของ Descartes นั้นยิ่งบ้าบิ่นเข้าไปใหญ่ เมื่อเขาอธิบายว่า "เราจะหมดข้อสงสัยในเรื่องการมีอยู่ของเรา เมื่อเราสงสัยในเรื่องการมีอยู่ของเรา" (we cannot doubt of our existence while we doubt)

ฟังดูแล้วโคตรงง โคตร paradox เอาไปพูดกับพวกนักคณิตศาสตร์นี่โดนตบหัวตายเลย

แต่ถ้าลองคิดตามเรื่อยๆ จะพบว่าคำอธิบายข้างต้นที่ดูขัดแย้งในตัวเองนี้แหละ เป็นคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดแล้ว

ถึงตอนนี้ก็พอจะเข้าใจะแล้วว่า ทำไมนักปรัชญาหลายคนเป็นบ้ากัน 555

Feb 12, 2016

La Marche de l'empereur

การสวนสนามของจักรพรรดิ (ฝรั่งเศส La Marche de l'empereur) ถ้าบอกว่านี่เป็นชื่อภาพยนต์ แค่ได้ยินแล้วก็รู้สึกว่ามันต้องยิ่งใหญ่แน่ๆ ... และนี่คือโฆษณาของภาพยนต์เรื่องนี้จากช่อง Canal+



ถ้าตัดสินภาพยนต์จากชื่อเรื่อง ก็ถือว่าโดนหลอกไปตามๆ กัน เพราะภาพยนต์เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับจักรพรรดิที่เป็นเลย แต่เป็นเรื่องของเพนกวินจักรพรรดิต่างหาก!

นอกจากความเจ๋งของโฆษณาที่เล่นกับชื่อเรื่องแล้ว เพลงที่นำมาประกอบยังมีความน่าสนใจอย่างมากอีกด้วย ผลงานชิ้นนี้คือซิมโฟนีหมายเลข 7 ของ Beethoven ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชิ้นที่ดังคุ้นหูอย่างหมายเลข 5 หรือหมายเลข 9 แต่ก็เป็นชิ้นที่มีเสน่ห์เย้ายวนเฉพาะตัว

ส่วนภาพยนต์ก็ดีครับ ... แต่จะดีอย่างไรนั้น ขอไม่เล่าละกันนะ ปล่อยให้ไปหาดูกันเองดีกว่า

เพราะภาพยนต์ถูกสร้างมาเพื่อรับชมยังไงหละ

Feb 8, 2016

เทศกาลดนตรี CU Choral Fest 2016

มาเรียนต่อต่างแดน (จริงๆ ก็แค่ย้ายจากเชียงใหม่มากรุงเทพเอง) แล้วไม่ได้เข้าฮอลล์ฟังคอนเสิร์ตนานมาก จนเมื่อปีที่แล้วได้รู้จัก @Linghokkalom เลยได้กลับมาตระเวนคอนเสิร์ตระดับนักเรียน-นักศึกษาที่เข้าชมฟรีอีกครั้งหนึ่ง น่าเสียดายที่ชมเสร็จก็ไม่ได้จดบันทึกอะไรเก็บไว้เลย เอาแค่ฝ่าฟันเดินทางกลับมาถึงบ้านก็หมดแรงเรียบร้อยแล้ว

แต่สำหรับ CU Choral Fest 2016 ที่จุฬาฯ เมื่อวานนี้ ไม่จดไม่ได้แล้ว เนื่องจากเราประทับใจกับ Adiemus ที่วง Harmonic Noises นำมาเสนอมากๆ จนอยากตะโกนร้องว่าบราโว่ตอนจบเลย (จริงๆ วงที่มีหลายคนต้องต้องตะโกนว่าบราวี่สิ…)



เจอเพลงนี้เข้าไปเพลงเดียว นั่งสตั๊นท์ตลอดคอนเสิร์ตเลย เพลงอื่นๆ แทบหาสมาธิฟังไม่เจอ ใจมันลอยไปกับความอิ่มเอมกับเพลงนั้นเรียบร้อย 555

ส่วนอันนี้เป็นโปรแกรมทั้งหมดเผื่อใครสนใจหรือจะใช้อ้างอิง (จริงๆ มีวงเพื่อนบ้านจากมาเลเซีย/อินโดนีเซียมาแจมด้วย แต่เนื่องจากจดไม่ทันเลยตกหล่นไป ขออภัยอย่างแรง)

Harmonic Noises

เพลงฮิตติดหู เสียงประสานดีงาม เอนเตอร์เทนเก่ง ปุ่มสมัครเป็นแฟนคลับอยู่ตรงไหน!

  • Amazing Grace – เรียบเรียงโดย Ron Jeffers
  • Musica Dei – Cristi Cary Miller
  • Adiemus (Songs of Sanctuary) – Karl Jenkins
  • Aizu Bandai San (Japanese Folk Song) – เรียบเรียงโดย Hiroshi Ishimaru

วาทยากร: Sathit Sukchongchaipruk
เปียโน: Kornploy Bunnag

RSU Chamber (มหาวิทยาลัยรังสิต)

นักร้องนำชายเสียงหล่อมาก หยั่งกะพระเอกหนังไทยสมัยก่อนเลย

  • Zigunerieben, Op. 29, No. 3 – Robert Schumann
  • Ave verum – Edward Elgar
  • When I Fall in Love – Kirby Shaw
  • ลาวดวงเดือน – เรียบเรียงโดย Kittiporn Tantrarungroj

วาทยากร: Dolhathai Intawong
เปียโน: Sopanut Rerksamut

AU Chorus (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ)

แต่งตัวเนี๊ยบ บุคลิกสุดหรู

  • Gloria Patri – Vicki Tucker Courtney
  • Carol of the Birds – เรียบเรียงโดย Vicki Tucker Courtney
  • Lift Thine Eyes – Felix Mendelssohn Bartholdy
  • Cantate Domino in B♭ - Psalm 96 – Ko Matsushita
  • Everyone Sang – Ko Matsushita, เนื้อร้องโดย Siegfried Sassoon

วาทยากร: Porntep Vichuchaichan
เปียโน: Sasinun Vipusithimakul

CU Concert Choir (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

สุดยอดแห่งการเลือกเพลงเทคนิคเหนือชั้น

  • Gaudete – Brian Kay
  • Due composizioni corali – Ildebrando Pizzetti
    • I. Il giardino di Afrodite
    • II. Piena sorgeva la luna
  • Hungarian Folksongs – György Ligeti
    • Pápainé
    • Kállai Kettős

วาทยากร: Pawasut Piriyapongrat
เปียโน: Thanuya Jaturanont

Festival Chorus (รวมพลังกันทุกวงมาแสดง)

วงใหญ่ที่รวมนักร้องนับร้อยจากทุกวงมาขึ้นเวทีพร้อมกัน กับพลังเสียงสุดเนียนที่ผ่านการร้อยเรียงโดยปรมาจารย์

  • Cantate Domino – Guiseppe Pitoni
  • Dirait-on – Mortan Lauriden
  • Come Ye Sinners Poor and Needy – Tim Sharp

วาทยากร: Tim Sharp
เปียโน: Thanuya Jaturanont


Tim Sharp กับวง Festival