Sep 29, 2014

Sukiyaki เพลงประกอบ MK

ไม่กี่ปีก่อนน่าจะมีคนจำได้กับเพลงประกอบโฆษณา MK ที่ร้องด้วยถ้อยคำผ่านทำนองอันแสงจะติดหูว่า

"เรากินสุกี้กิน MK เรากิน MK กินสุกี้ เรากิน MK สิ่งดีๆ มีติดตัวตั้งมากมาย"

พอเดาได้อยู่ว่าเพลงโฆษณาพวกนี้คือการเอาเพลงที่มีจริงๆ อยู่แล้วมาดัดแปลงใส่เนื้อร้องเข้าไปใหม่ (ไม่ได้แต่งหมดตั้งแต่เริ่ม)



เรื่องน่าแปลกคือเพลงนี้เดิมชื่อว่า 上を向いて歩こう (Ue o Muite Arukō) ถ้าแปลเป็นไทยสวยๆ หน่อยชื่อเพลงจะประมาณ "เงยหน้าสู้ฟ้าพร้อมก้าวไปต่อ" เนื้อเพลงก็ออกแนวตัดพ้อเรื่องความรัก แต่ก็ยังไม่ก้มหน้านะ เดี๋ยวน้ำตาจะรินไหล

คือเพลงทั้งเพลงไม่ได้มีข้อความอะไรเกี่ยวกับ "สุกี้ยากี้" ซึ่งเป็นชื่อเพลงที่คนนอกประเทศญี่ปุ่นรู้จักกันอย่างแพร่หลายเลย

คงจะคล้ายกับการที่เราตั้งชื่อหนังว่า "ต้มยำกุ้ง" ทั้งๆ ที่หนังทั้งเรื่องไม่มีอาหารที่ชื่อว่า "ต้มยำกุ้ง" โผล่มาให้เห็นเลยกระมั้ง :P

Sep 11, 2014

หนังสือ 9 เล่มในดวงใจ

เขียนไว้บน Facebook รอบนึงแล้วครับ ก๊อปมาแปะตรงนี้อีกรอบกัน blog ร้าง :P

  1. ไบเบิล - เนื่องจากเรียนโรงเรียนคริสเตียนก็เลยมีโอกาสได้อ่านผ่านๆ ตั้งแต่ตอนประถม แม้จะอ่านไม่จบ (ถึงอ่านจบตอนนี้คงลืมไปหมดแล้ว) แต่ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่เปิดโลกด้านการนับถือศาสนาได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ยังช่วยปูทางไปสู่ philosophy และ cosmology อีกด้วย
  2. ตำนานเทพเจ้ากรีกโรมัน - ฉบับภาษาไทยที่ไม่ได้แปลมาจาก Homer ตรงๆ แต่เป็นการเรียบเรียงเรื่องราวสำคัญของเหล่าเทพมาเล่า เล่มนี้มีจุดสำคัญที่ทำให้เรามองว่าเหล่าเทพเจ้านั้น สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไป มีรักโลภโกรธหลงและทำผิดพลาดกันได้
  3. Stephen Hawking's A Brief History of Time - หลังจากมองในมุมศาสนาว่าพวกเขาหาคำตอบในชีวิตกันอย่างไรแล้ว ก็มามองในมุมวิทยาศาสตร์บ้าง ผมอ่านหนังสือตอเล่มนี้ตอนม.ต้นและเห็นว่าการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์มันเข้าท่ากว่าใช้ความเชื่ออย่างเดียวแบบศาสนา แม้จะอ่านได้ไม่เข้าใจทั้งเล่ม แต่ก็ทำให้ตั้งเป้าไว้ว่าอยากเก่งด้านวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ อยากใช้ให้เหตุผลให้ได้เก่งกว่านี้ เพื่อที่จะได้นำไปตอบคำถามว่าชีวิตคืออะไรกันแน่
  4. แคลคูลัส 1 โดย วิรัตน์ สุวรรณาภิชาติ - อ่านตอนม.ต้นเช่นกันหลังจากอ่านเล่มที่แล้วจบ เป็นเล่มที่ไปยืนเลือกที่ร้านหนังสือแล้วพบว่าอ่านเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เลือกอ่านเล่มนี้เพราะต้องการอ่านเล่มที่แล้วให้รู้เรื่องนั่นแหละ (ซึ่งก็ไม่ช่วยเท่าไหร่) แต่ก็เปิดโลกด้านคณิตศาสตร์ได้ดีทีเดียว
  5. ทฤษฎีดนตรี โดย ณัชชา พันธุ์เจริญ - หลังจากสนใจแต่วิทยาศาสตร์มาตลอด (ยอมรับว่าช่วงนึงเคยดูถูกสายศิลป์ด้วยว่า แค่ละเลงสีมั่วๆ เป็นภาพก็ขายได้แล้ว) ก็มีเรื่องดลใจให้ไปหัดพังเพลงคลาสสิก ซึ่งตอนฟังอย่างเดียวก็รู้สึกแค่ว่ามันเพราะดีนะ แต่พอได้อ่านเล่มนี้แล้วเหมือนเปิดโลกเลยว่า ศิลปศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะเอามาทำเล่นๆ ได้เลยทีเดียว
  6. Roger B. Nelsen's Proofs Without Words - แล้วศาสตร์กับศิลป์ก็มาบรรจบกัน กับหนังสือที่ดึงความสวยงามของคณิตศาสตร์ออกมาแสดงในเชิงศิลปะได้เป็นอย่างดี หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนเอกคณิตศาสตร์อีกด้วย
  7. Tanigawa Nagaru's Sizumiya Haruri Series - อ่านตอนม.ปลายช่วงที่กระแสการ์ตูนกำลังดัง ชอบมากตรงที่คนเขียนเอาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ประหลาดๆ ที่เข้าใจได้ยากมาผูกกับตัวละครเกรียนๆ จนได้เป็นเนื้อเรื่องย่อยง่าย หนังสือชุดนี้นี่เองที่ส่งผลให้ศึกษา philosophy จริงจัง
  8. Isaac Asimov's The Last Question - จริงๆ เป็นแค่เรื่องสั้น แต่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เหมือนกับการสรุปคำถามจากหนังสือข้างต้นแทบทั้งหมดแล้วมาหาคำตอบให้มัน อ่านจบแล้วก็คิดได้ว่าศาสนาไม่จำเป็นต้องยืนอยู่คนละข้างกับวิทยาศาสตร์เลย
  9. Douglas Adams' Hitchhiker's Guide to the Galaxy - ผมเชื่อว่า พอเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปจนความรู้มันแทบจะระเบิดออกมา สุดท้ายแล้วก็ต้องหาทางลืมความรู้นั้น (unlearn) หนังสือชุดนี้แสดงถึงความไร้สาระของชีวิตได้ดีจริงๆ และน่าจะเป็นบทสรุปให้กับคำตอบของชีวิตที่ผมตั้งคำถามไว้อย่างเนิ่นนานด้วย

ป.ล. หนังสือบางที่ยกมาประกอบ ขออนุญาตละตำแหน่งทางวิชาการของผู้แต่งนะครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าแต่ละเล่มนั้นผมอ่านเมื่อนานมาแล้ว ตอนนี้ท่านอาจไม่ได้ดำรงในตำแหน่งนั้นๆ แล้วก็ได้

Sep 5, 2014

Barcamp Bangkok 2014

บาร์แคมป์กรุงเทพปีนี้จัดที่ TK Park ที่อยู่ชั้นบนสุดของห้าง Central World ครับ เดินทางง่ายไม่มีคำว่าหลงแน่นอน


งานนี้ค่อนข้างเป็นภาษาไทยเยอะมาก (หรือผมแปลกเองที่คิดว่าบาร์แคมป์น่าจะมีภาษาอังกฤษเยอะกว่านี้?) และเจ้าของงานบอกไว้ก่อนที่จะลงมือแปะ session ว่าขอให้หัวข้อเกี่ยวกับเรื่อง IT ซึ่งพอดีผมเตรียมเรื่องดนตรีเพียวๆ มาเลยไม่กล้าไปแปะหัวข้อไปครับ

สถานที่จัดงานก็พอโอเค แม้ว่ามีห้องที่เป็นห้องจริงๆ ให้แค่ 3 ห้อง แต่พอกั้นห้องโถงไว้เป็นอีกห้องนึงก็เข้าท่าดีเหมือนกันครับ


@dtinth ที่ลืมสายต่อโปรเจคเตอร์จนต้องให้ทุกคนมารุมดูจอใกล้ๆ


@awkwin กับ @nonene_desu มาเถียงกันว่า DotA 2 กับ League of Legends เกมไหนเจ๋งกว่ากัน

สำหรับหัวข้ออื่นๆ ที่เหลือไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ ผมเข้าไปฟังผ่านๆ แล้วรู้สึกไม่ได้อะไรเลย เหมือนกับเข้าไปฟังคนอื่นกางหนังสืออ่านให้ฟังมากกว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์ตรงครับ

สรุปว่างานนี้ไม่ปลื้ม แต่ก็ยังดีที่รวมพลไปเล่นบอร์ดเกมต่อหลังงานได้ (ถือเป็นเรื่องสนุกที่สุดของวันเลย)


เกมสร้างเรือเหาะกลางทะเลทราย ที่เล่นกับ @Blltz @scomma @chakeaw @hlungx และ @patamaAun ไม่ผ่านซักที

Sep 2, 2014

ใดๆ ในโลกล้วนการเมือง

ตอนเด็กๆ เคยปลื้มกับคำพูดนี้มาก

Politics is for the present, but an equation is something for eternity.
-- Albert Einstein

ได้ไอดอลเช่นนี้ก็เลยเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เรียนไปเรียนมารู้ตัวอีกทีก็เข้ามหาวิทยาลัยไปอยู่เอกคณิตศาสตร์เรียบร้อย

แต่ยิ่งศึกษาลึกลงไปเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกว่าศาสตร์ต่างๆ มันต้องเกิดมาให้ถูกที่ถูกเวลาถึงจะไปรอด

อย่างแนวคิดเรื่องอะตอมนี่ก็คิดมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว (Democritus) แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือและการนำความรู้นี้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ ก็ทำให้มันกลายเป็นแค่หัวข้อที่มีไว้เพื่อถกเถียงในวงปรัชญาเท่านั้น กว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ก็ทิ้งเวลาไปเกือบ 2000 ปี

หรืออย่างความรู้ด้านดาราศาสตร์ ถ้าหากเราไม่ได้ใช้มันเพื่อการนำทางในยุคโบราณที่ไม่มี GPS แล้ว ศาสตร์นี้ก็คงไม่ได้รับความสนใจพัฒนาต่อไปอีกนานแน่ๆ (ซึ่งอาจส่งผลให้เราไม่สามารถตั้งสันนิษฐานเรื่องแรงดึงดูดและวงโคจร จนทำให้การพัฒนาระบบดาวเทียมล่าช้ากว่าปัจจุบันก็เป็นได้)

ทฤษฎีกราฟเกิดขึ้นราว 300 ปีก่อน เมื่อ Euler ดันไปสนใจการจัดผังสะพานเมือง Königsberg ซึ่งตอนนั้นทฤษฎีกราฟก็ใช้หาประโยชน์อะไรไม่ได้นอกเสียจากเอาไว้ตอบปัญหาเชาว์เรื่องการเดินข้ามสะพานนั่นเอง ต้องรอจนกระทั่งคอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนต้องมีการวางระบบเครือข่ายให้คอมพิวเตอร์คุยกัน เราจึงได้เห็นประโยชน์ของทฤษฎีกราฟจริงจัง

มองย้อนกลับไปยังผู้กล่าวประโยคข้างต้น กับสมการสร้างชื่อสุดอมตะอย่าง E = mc2 ที่เปรียบได้ดั่งกุญแจไขความลับจักรวาลว่าสสารและพลังงานนั้นแท้จริงแล้วรากฐานเป็นสิ่งเดียวกัน อย่าลืมว่าผลลัพธ์จากสมการนี้ทำให้เกิดอาวุธที่น่ากลัวที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างมา

หากจำลองสถานการณ์มองย้อนเวลากลับไปว่าตอนนั้นไม่มีสงคราม สมการข้างต้นยังจะมีชื่อเสียงขนาดนี้อยู่มั้ย การพิสูจน์ความถูกต้องผ่านการทดลองจริงจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าแค่ไหน ห้องแล็บอนุภาคอย่าง CERN จะเกิดขึ้นมาเพื่อค้นหาคำตอบอื่นๆ หรือเปล่า? แน่หละว่า Einstein อาจยังยึดหลักการเดิมว่าความรู้ในวิทยาศาสตร์ไม่มีวันตายและศึกษาพัฒนามันไปเรื่อยๆ (ด้วยความหนืดมากกว่านี้จนอาจไม่ทันได้เห็นผลลัพธ์) แต่ภาพรวมของวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะออกมาเป็นแบบไหน?

หรือถ้าสะพานเมือง Königsberg ไม่ได้มีแค่ 7 สะพานและเรียงตัวกันอย่างนั้น Euler อาจไม่สนใจที่จะพัฒนาทฤษฎีกราฟ ซึ่งซักวันมันจะมีประโยชน์อย่างมากในการวางเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ก็ได้

แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้ความรู้เหล่านั้นเป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดสิ่งอื่นจริงๆ การสร้างองค์ความรู้ใหม่อาจไม่ได้เชื่องช้าอย่างที่คิด คือแทนที่จะใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเขียนทฤษฎีที่เราจะตายไปก่อนที่จะได้เห็นการนำมันไปใช้ประโยชน์ (หรือบางทฤษฎีก็อาจหาประโยชน์จริงๆ ไม่ได้เลย) หากอยู่ในโมเมนตัมทางสังคมที่ถูกต้อง เราอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีกับการพัฒนางานที่จะก่อให้เกิด paradigm shift บนโลกใบนี้ก็ได้

เพราะใดๆ ในโลกล้วนการเมือง ไม่เว้นแม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ดูเป็นเรื่องแสนบริสุทธิ์และจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ก็ตาม

ป.ล. เผื่ออ่านประกอบ: บล็อกของ @lewcpe, นิยาย Foundation เล่มที่ 3