Sep 19, 2013

ริจะฟังเพลงคลาสสิก อย่ายึดติดว่าต้องจินตนาการเห็นต้นไม้ใบหญ้า

ยาวไปไม่(ต้อง)อ่าน: จินตนาการระหว่างฟังเพลงคลาสสิกแล้วสนุกก็ทำไปเถอะ

แตกมาจากบทวิเคราะห์ Moonlight Sonata นะครับ เพื่อไม่ให้มีหลายเรื่องปนกัน

ในการฟังเพลงเหล่านี้ ใคร่เตือนว่าอย่าตั้งตาวาดภาพหรือพยายามจะจับให้ได้ว่า ขณะนี้นกกำลังบินอยู่ หรือฝนกำลังตก จนกระทั่งไม่ได้ชื่นชมตัวเสียงดนตรีเอง อันที่จริงภาพต่างๆ นั้นเป็นเพียงเครื่องประกอบ หรือเป็นสิ่งจูงใจผู้ประพันธ์ให้มีอารมณ์ที่จะแต่งเพลงเท่านั้น เราจะฟังเพลงเพื่อความไพเราะโดยไม่คำนึงถึงข้อความต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนเกิน หรือส่วนที่ไม่เชิงดนตรีเลยก็ได้ และอาจดีกว่าด้วยซ้ำไป แต่บังเอิญมีครูสอนคีตนิยมบางท่านเอานิยายต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องล่อความสนใจ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันว่า เพลงคลาสสิกทุกเพลงฟังแล้วถ้าเข้าใจจริงๆ จะต้องมองเห็นน้ำตกเห็นหุบเขาในจินตนาการ เลยเป็นเหตุให้คนกลัวเพลงคลาสสิกไป เพราะถ้าฟังเสียงไวโอลินแล้วไม่เห็นเมฆ คนอื่นเขาจะว่าโง่
-- ดร.ประทักษ์ ประทีปเสน

หลายครั้งผมก็พยายามฟังดนตรีเพื่อดนตรีนะ (พวกทฤษฎีดนตรี วิเคราะห์คอร์ด หาโมทีฟเปลี่ยนรูป อะไรทำนองนั้น) แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนึกภาพตามว่าเสียงบรรเลงแบบนี้ มันควรจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์แบบไหน

การรับรู้ของมนุษย์ที่แข็งแรงที่สุดยังไงก็หนีไม่พ้นการมองอยู่ดี ดังนั้นการไปบังคับว่าฟังแล้วห้ามจินตนาการภาพตามเนี่ยแหละที่แปลก แปลกมากด้วย

ส่วนเรื่องที่ว่าคนนึงมาฟังแล้วบอกว่าเห็นนกเห็นไม้ อีกคนเล่าว่าเหมือนได้ไปอยู่ชายทะเลมองเส้นขอบฟ้า ส่วนคนอื่นๆ กลับไม่เห็นอะไรเลย นี่มันแทบไม่ใช่ประเด็นด้วยซ้ำ มันก็เหมือนเด็กน้อยนอนดูดาวแล้วลากเส้นให้เป็นรูปต่างๆ นั่นแหละ ใครจะไปวาดออกมาได้เหมือนกันหมดทุกอย่างหละ จริงไหม?

ดังนั้นคนที่ฟังแล้วไม่เห็นภาพอะไรก็ไม่ต้องกังวล ส่วนคนที่สั่งห้ามจินตนาการนั้นก็ดูท่าว่าจะกลัวจนเกินเหตุ

จินตนาการกันดีกว่า ใครจะมาเข้าใจผิดก็ช่างเขาเถอะ

1 comment:

  1. เพลงคลาสสิกหลังยุคเบโธเฟนจะมี 2 แนวทาง แนวทางแรกคือแบบที่เดินตามแนวซิมโฟนีหมายเลข 5 แนวนี้ไม่จินตนาการเป็นเรื่องราว ฟังที่ตัวดนตรีเป็นหลัก แนวที่สองเป็นแนวที่เดินตามซิมโฟนีหมายเลย 6 อันนี้จะจินตนาการเป็นเรื่องเป็นราว

    ReplyDelete