Sep 2, 2014

ใดๆ ในโลกล้วนการเมือง

ตอนเด็กๆ เคยปลื้มกับคำพูดนี้มาก

Politics is for the present, but an equation is something for eternity.
-- Albert Einstein

ได้ไอดอลเช่นนี้ก็เลยเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เรียนไปเรียนมารู้ตัวอีกทีก็เข้ามหาวิทยาลัยไปอยู่เอกคณิตศาสตร์เรียบร้อย

แต่ยิ่งศึกษาลึกลงไปเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกว่าศาสตร์ต่างๆ มันต้องเกิดมาให้ถูกที่ถูกเวลาถึงจะไปรอด

อย่างแนวคิดเรื่องอะตอมนี่ก็คิดมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว (Democritus) แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือและการนำความรู้นี้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ ก็ทำให้มันกลายเป็นแค่หัวข้อที่มีไว้เพื่อถกเถียงในวงปรัชญาเท่านั้น กว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ก็ทิ้งเวลาไปเกือบ 2000 ปี

หรืออย่างความรู้ด้านดาราศาสตร์ ถ้าหากเราไม่ได้ใช้มันเพื่อการนำทางในยุคโบราณที่ไม่มี GPS แล้ว ศาสตร์นี้ก็คงไม่ได้รับความสนใจพัฒนาต่อไปอีกนานแน่ๆ (ซึ่งอาจส่งผลให้เราไม่สามารถตั้งสันนิษฐานเรื่องแรงดึงดูดและวงโคจร จนทำให้การพัฒนาระบบดาวเทียมล่าช้ากว่าปัจจุบันก็เป็นได้)

ทฤษฎีกราฟเกิดขึ้นราว 300 ปีก่อน เมื่อ Euler ดันไปสนใจการจัดผังสะพานเมือง Königsberg ซึ่งตอนนั้นทฤษฎีกราฟก็ใช้หาประโยชน์อะไรไม่ได้นอกเสียจากเอาไว้ตอบปัญหาเชาว์เรื่องการเดินข้ามสะพานนั่นเอง ต้องรอจนกระทั่งคอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนต้องมีการวางระบบเครือข่ายให้คอมพิวเตอร์คุยกัน เราจึงได้เห็นประโยชน์ของทฤษฎีกราฟจริงจัง

มองย้อนกลับไปยังผู้กล่าวประโยคข้างต้น กับสมการสร้างชื่อสุดอมตะอย่าง E = mc2 ที่เปรียบได้ดั่งกุญแจไขความลับจักรวาลว่าสสารและพลังงานนั้นแท้จริงแล้วรากฐานเป็นสิ่งเดียวกัน อย่าลืมว่าผลลัพธ์จากสมการนี้ทำให้เกิดอาวุธที่น่ากลัวที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างมา

หากจำลองสถานการณ์มองย้อนเวลากลับไปว่าตอนนั้นไม่มีสงคราม สมการข้างต้นยังจะมีชื่อเสียงขนาดนี้อยู่มั้ย การพิสูจน์ความถูกต้องผ่านการทดลองจริงจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าแค่ไหน ห้องแล็บอนุภาคอย่าง CERN จะเกิดขึ้นมาเพื่อค้นหาคำตอบอื่นๆ หรือเปล่า? แน่หละว่า Einstein อาจยังยึดหลักการเดิมว่าความรู้ในวิทยาศาสตร์ไม่มีวันตายและศึกษาพัฒนามันไปเรื่อยๆ (ด้วยความหนืดมากกว่านี้จนอาจไม่ทันได้เห็นผลลัพธ์) แต่ภาพรวมของวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะออกมาเป็นแบบไหน?

หรือถ้าสะพานเมือง Königsberg ไม่ได้มีแค่ 7 สะพานและเรียงตัวกันอย่างนั้น Euler อาจไม่สนใจที่จะพัฒนาทฤษฎีกราฟ ซึ่งซักวันมันจะมีประโยชน์อย่างมากในการวางเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ก็ได้

แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้ความรู้เหล่านั้นเป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดสิ่งอื่นจริงๆ การสร้างองค์ความรู้ใหม่อาจไม่ได้เชื่องช้าอย่างที่คิด คือแทนที่จะใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเขียนทฤษฎีที่เราจะตายไปก่อนที่จะได้เห็นการนำมันไปใช้ประโยชน์ (หรือบางทฤษฎีก็อาจหาประโยชน์จริงๆ ไม่ได้เลย) หากอยู่ในโมเมนตัมทางสังคมที่ถูกต้อง เราอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีกับการพัฒนางานที่จะก่อให้เกิด paradigm shift บนโลกใบนี้ก็ได้

เพราะใดๆ ในโลกล้วนการเมือง ไม่เว้นแม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ดูเป็นเรื่องแสนบริสุทธิ์และจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ก็ตาม

ป.ล. เผื่ออ่านประกอบ: บล็อกของ @lewcpe, นิยาย Foundation เล่มที่ 3

No comments:

Post a Comment