Oct 12, 2014

เรื่องธรรมดา

วันก่อนไปทำแบบทดสอบไอคิวแบบกึ่งจริงจังมาครับ

ที่บอกว่า "จริงจัง" เพราะเป็นแบบทดสอบที่ต้องมีนักจิตวิทยาเป็นคนอ่านคำถามพร้อมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมระหว่างทำ ส่วนตัวแบบทดสอบก็มีหัวข้อหลากหลายและไม่ได้มีแต่ชอยส์ให้เลือกว่าภาพไหนถูกเหมือนที่เคยทำเล่นในเน็ต

แต่ที่ว่า "กึ่ง" ก็เพราะนักจิตวิทยาที่มาคุมแบบทดสอบ คือเพื่อนนักศึกษาปีสาม ที่อาจารย์ให้ไปหาเหยื่อมาเพื่อฝึกฝีมือกับชุดทดสอบไอคิวแบบต่างๆ เวลาไปทำงานจริงจะได้ไม่ผิดพลาด

รายละเอียดการทดสอบผมคงเล่าไม่ได้เพราะติดสัญญาปกปิดข้อมูลไว้ บอกได้เพียงว่าเป็นแบบทดสอบ WAIS รุ่น 1 ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว

ส่วนผลลัพธ์คือผมได้ค่าไอคิว 132 คะแนน เมื่อคำนวณเทียบตามอายุปัจจุบัน

ตอนที่เพื่อนคำนวณคะแนนเสร็จ ถึงขั้นตกใจว่าคะแนนสูงมาก ไม่เคยเจอสูงเท่านี้มาก่อน (บอกประมาณว่า "เกือบอัจฉริยะ")

ยอมรับนะว่าได้ยินก็แอบลอย ... แต่แค่แว๊บเดียวเท่านั้นแหละ หน้าเพื่อนๆ ร่วมห้องแลปก็ลอยมา

สำหรับพวกเค้าแล้ว ตัดคำว่า "เกือบ" นำหน้าทิ้งไป แล้วบอกตรงๆ ว่านี่คือ "อัจฉริยะ" ได้โดยไม่ต้องลังเล 555

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เลยกลับมาค้นข้อมูลดูจนพอจะสรุปได้ว่า แบบทดสอบมาตรฐานส่วนใหญ่ แม้กฎเกณฑ์การให้คะแนนจะต่างกันไปบ้าง แต่หลักคิดคือประชากรโลกมีจำนวนเยอะพอที่จะเอาหลักสถิติมาจับได้ เลยสร้างโมเดลไอคิวประชากรเป็นกราฟทรงระฆังคว่ำ ยืนพื้นที่ตัวเลข 100 คะแนนไว้ตรงกลาง แล้วให้การกระจายตัวที่ความเบี่ยงมาตรฐานหนึ่งหน่วย ตีเป็นคะแนนได้ 15 จุด

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าสุ่มเลือกคนมา 100 คนแบบมั่วๆ จะพบคนที่มีไอคิวเกิน 130 (2 ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน) อยู่เพียง 2-3 คนเท่านั้น

ฟังดูแล้วตัวเลขนี้ก็ไม่ได้เยอะซักเท่าไหร่ ในรถไฟฟ้าหนึ่งตู้โดยสารที่มีแต่คนนั่งเต็มโดยไม่มีคนยืน อาจพบคนที่มีไอคิวสูงระดับนี้แค่หนึ่งคนเท่านั้น (ถ้าสมมติให้คนขึ้นรถไฟฟ้าเป็นการสุ่มมั่วโดยสมบูรณ์)


คะแนนไอคิวเทียบตามอาชีพ -- ภาพจาก BuzzFeed

แต่โลกความจริงอาจไม่ง่ายเช่นนั้น ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศที่คัดแต่หัวกระทิเข้ามาเรียน เราอาจเดินชนไหล่อัจฉริยะเหล่านี้เป็นว่าเล่นเลยก็ได้

ถึงจุดนั้น การมีไอคิวสูงก็ไม่ใช่เรื่องพิเศษแต่อย่างใด

No comments:

Post a Comment