Jan 31, 2016

ขนาดฟอนต์ของเอกสารไทย

ถ้าเคยสังเกตและจำกันได้ เวลาสร้างเอกสารใน MS Word (โดยที่ยังไม่ได้กำหนดค่าปริยายใหม่) ฟอนต์เริ่มแรกที่โปรแกรมเลือกให้คือ Times New Roman ขนาด 11 พอยต์

เอามาพิมพ์ภาษาอังกฤษไม่มีปัญหา อ่านได้สบายตา แม้ว่ารูปร่างตัวอักษรจะเรียบๆ ตามขนบธรรมเนียมไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม Times New Roman นี้เอามาพิมพ์ภาษาไทยไม่ได้ เพราะฟอนต์นี้ไม่มีภาพตัวอักษร (glyph) ภาษาไทยให้

ถึงตอนนี้ถ้าแก่พอ ก็คงจำได้ว่าต้องเปลี่ยนไปเลือกฟอนต์ Angsana UPC เพื่อพิมพ์คำไทย

แต่เนื่องจาก UPC มีแต่ภาพตัวอักษรไทยเท่านั้น เวลาเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแค่บริเวณที่เป็นภาษาไทย แถมยังต้องเพิ่มขนาดขึ้นมาเป็นอย่างต่ำ 14 พอยต์ด้วย ไม่ขนาดมันจะเล็กมากจนอ่านไม่ออก


ยุคนั้นเราจึงเจอความไม่สม่ำเสมอของตัวอักษรกันได้ง่ายๆ เช่น พิมพ์บทความภาษาไทยไปยาวๆ พอต้องแทรกคำที่เป็นภาษาอังกฤษ/เลขอาราบิก ภาพตัวอักษรพวกนั้นจะมีขนาดใหญ่เบิ้มขึ้นมาทันที

โชคดีที่ยุคถัดมามี Angsana New ให้ใช้ ซึ่งฟอนต์ตัวนี้มันมีภาพตัวอักษรทั้งไทยและอังกฤษให้ในตัว เวลาใช้ก็สบายใจหายห่วง ไม่ต้องมากังวลเรื่องปรับขนาดฟอนต์เมื่อเปลี่ยนภาษาอีก

แต่อย่างไรเสีย ขนาดที่ใช้อ่านง่ายสบายตาคือ 16 พอยต์ (มาตรฐานราชการไทยเลยหละ)



ถ้าใครลืมเลือนประวัติศาสตร์ตรงนี้กันไปแล้ว เวลาไปอ่านคำแนะนำการจัดย่อหน้าหนังสือภาษาอังกฤษ ก็จะตกใจเล็กน้อยว่า เฮ้ย! ฝรั่งนี่เค้าสายตาดีขนาดกำหนดฟอนต์มาตรฐานไว้ที่ 11-12 พอยต์เลยเหรอ?

คำตอบคือ 11-12 พอยต์ตัวอักษรอังกฤษ มันเทียบเคียงได้กับ 14-16 พอยต์ตัวอักษรไทยนั่นเอง

สันนิษฐานว่าตอนที่ภาพตัวอักษรภาษาไทยเริ่มถูกนำไปทำเป็นฟอนต์ เวลานับขนาดภาพตัวอักษร เค้านับตามแนวตั้งซึ่งรวมพวกสระบนล่างและวรรณยุกต์เข้าไปด้วย

ทำให้ขนาดของภาพตัวอักษร ก-ฮ มันโดนบีบลงไปนั่นเอง เวลาจะใช้งานจริงๆ เลยต้องเพิ่มขนาดฟอนต์โดยรวมทั้งหมด เพื่อให้ขนาดเฉพาะของภาพตัวอักษร ก-ฮ มันกลับมามีขนาดใกล้เคียงกับภาพตัวอักษร a-z



แต่ปัจจุบันนี้ หากเปลี่ยนไปใช้ Google Docs หรือ LaTeX พิมพ์งาน จะพบว่าฟอนต์ไทยในขนาดที่อ่านได้ มันคือขนาด 11-12 พอยต์เหมือนฟอนต์อังกฤษมาตั้งแต่แรก ไม่ต้องไปเพิ่มขนาดมันเป็น 14-16 พอยต์แล้ว

ก็หวังว่าระบบมาตรฐานฟอนต์ไทยขนาด 16 พอยต์ใน MS Word จะล้มหายตายจากไปเสียที แล้วไปใช้มาตรฐานฟอนต์ไทย 12 พอยต์เหมือนสากลโลกเค้า (เช่น มีฟอนต์ใหม่ Angsana Normalize มาแทนที่ Angsana New ไรงี้)

ระหว่างนี้ก็ทำได้แต่ระวังสับสนกันต่อไป ...

หรือถ้าจะให้แน่ใจ ตอนพิมพ์ลงกระดาษแล้ว ลองเอาไม้บรรทัดมาวัดความสูงของภาพตัวอักษร ก-ฮ ให้ได้ราวๆ 4.5 มิลลิเมตร ก็จะได้ว่าภาพตัวอักษรนั้นมีขนาด 16 พอยต์แบบพิมพ์บน MS Word หรือเทียบได้กับขนาด 12 พอยต์แบบพิมพ์บน Google Docs นั่นเองครับ

No comments:

Post a Comment