Oct 23, 2012

ถ้าฝนตกแล้วเก็บผ้า

เวลาพูดว่า "ถ้า ก แล้ว ข" เนี่ย มันเป็นการพูดแบบสนใจตอนที่เงื่อนไข ก เป็นจริงอย่างเดียว ถ้าเงื่อนไข ก ไม่เกิด เหตุการณ์ ข ที่ตามมาจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้

ตัวอย่างเช่น "ถ้าฝนตก ผ้าที่ตากไว้จะเปียก" จะเห็นได้ว่า ฝนตกแล้วยังไงผ้าต้องเปียกแน่ๆ ไม่มีทางที่ฝนตกแต่ผ้าไม่เปียกได้เลย แต่เราจะไม่สามารถระบุได้เลยว่าหากฝนไม่ตกแล้วผ้าจะเปียกหรือไม่ (มันไม่เกี่ยวโยงกันเลย)

สิ่งที่น่าประหลาดใจมาก คือหลายครั้งเรามักจะคิดว่ามันเชื่อมโยงกันได้ คือคิดว่า "ถ้าไม่ ก แล้วไม่ ข" ตามไปด้วย อย่างเช่นจากด้านบนนี้ เราอาจคิดว่า "ถ้าฝนไม่ตก ผ้าที่ตากไว้จะไม่เปียก" ซึ่งจะเห็นได้ว่าผิดถนัด เพราะเงื่อนไขของการที่ผ้าเปียกอาจไม่ได้เกิดจากฝนตกอย่างเดียว ตอนรดน้ำต้นไม้อาจสะบัดสายน้ำไปโดนผ้าก็เป็นได้

ดังนั้นถ้าจะหัวหมอหน่อย เวลามีคนบอกว่า "ถ้าฝนตก แล้วเก็บผ้า" เนี่ย เราสามารถไปเก็บผ้าได้ทันทีเลย ไม่ต้องรอให้ฝนตกนะ (เพราะสาเหตุมันไม่เกี่ยวโยงกัน ดังนั้นเมื่อฝนไม่ตก จะเก็บผ้าหรือไม่เก็บผ้าก็ได้)

ทางแก้คือเปลี่ยนไปใช้รูปประโยค "ก ก็ต่อเมื่อ ข" แทน ซึ่งหมายความคือ "ถ้า ก แล้ว ข" และ "ถ้า ข แล้ว ก" ทั้งสองอย่าง

นั่นก็คือเปลี่ยนประโยคนั้นเป็น "ฝนตกก็ต่อเมื่อเก็บผ้า" หรือเพื่อให้อ่านได้เข้าใจง่ายขึ้น "เก็บผ้าก็ต่อเมื่อฝนตก" แบบนี้แล้ว การจะเก็บผ้าต้องทำตอนที่ฝนตกเท่านั้น ถ้าฝนไม่ตกห้ามเก็บผ้าเด็ดขาดครับ

No comments:

Post a Comment