Mar 8, 2016

มาขีดเขียนหนังสือกันเถอะ!

จั่วหัวไว้อย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมจะมาชวนเปลี่ยนกระดาษว่างๆ ให้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งนะครับ :P

แต่ต้องการจะสื่อว่า เวลาที่หยิบหนังสือที่มีขึ้นมาอ่าน เรามาขีดเขียนเพิ่มเติมรูปภาพ/ข้อความส่วนตัวลงไปในหนังสือเล่มนั้นกันเถอะ!

เหตุผลที่ควรขีดเขียนหนังสือ

  • เพื่อจดบันทึกว่า ตัวเองในขณะนั้นกำลังคิดอะไรอยู่
  • เพื่อแบ่งบันกับพื่อนนักอ่านว่า เราได้ตกผลึกอะไรบ้างตอนที่อ่านถึงตรงนั้น
  • หนังสือไม่ใช่พระเจ้า หนังสือเป็นแค่สื่อเพื่อเผยแพร่ความคิด ไม่ต้องถึงขั้นกราบไหว้บูชาดูแลรักษาไม่ให้มีความด่างพร้อยก็ได้



พูดแล้วผมก็นึกถึงหนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ขายเป็นกล่องรวมเล่มสีทองๆ สวยงามครับ ถ้าซื้อรุ่นที่พิมพ์ครั้งหลังๆ หน่อย นอกจากจะได้หนังสือหนาๆ สามเล่มที่เป็นเนื้อเรื่องในสามก๊กแล้ว ยังจะได้หนังสือเล่มบางเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเล่ม เล่าถึงประวัติการแปลหนังสือสามก๊กชุดนี้เป็นภาษาไทย

ถ้าผมจำไม่ผิด ในหนังสือเล่มเล็กมีตอนหนึ่งในนั้นที่เล่าว่า ผู้จัดรวบรวมได้ไปพบกับหนังสือชุดสามก๊กชุดหนึ่งที่มีข้อความบันทึกไว้ เขียนไว้ประมาณนี้ "ขงเบ้งเปิดประตูเมืองนั่งดีดพิณแม้ไม่มีทหาร โชคดีมากที่สุมาอี้เป็นคนรอบคอบจนเกินไป จึงคิดว่าโดนซ้อนแผนและรีบชักม้าหนีแทนที่จะเข้าจู่โจม ถ้าให้สุมาเจียวลูกชายป็นฝ่ายคุมทับแล้วหละก็ เห็นทีขงเบ้งจะคอขาดแล้วกระมัง" ใครที่อ่านสามก๊กก็คงจะเห็นด้วยกับบันทึกดังกล่าวว่าสุมาอี้เสียทีขงเบ้งง่ายเกินไป แต่ถัดไปไม่ไกล ก็ยังมีบันทึกที่สองที่เขียนด้วยลายมืออื่นตอบกลับไปว่า "เพราะขงเบ้งรู้ว่าสุมาอี้ขี้ระแวง เลยใช้กลอุบายแบบแผนซ้อนแผนเพื่อขับไล่กองทัพสุมาอี้ หากว่าสุมาเจียวได้คุมทัพ ขงเบ้งก็จะใช้กลอุบายอื่น"

แน่นอนว่าการแสดงความเห็น-ถกเถียง-อภิปรายแบบนี้ ปัจจุบันคงหาได้ไม่ยากตามกระทู้ออนไลน์ (และก็น่าจะรับประกันได้ว่าผู้เขียนบันทึกคนแรก มีสิทธิ์กลับมาอ่านสูงกว่าการบันทึกลงหนังสือด้วย) แต่การขีดเขียนหนังสือตรงๆ ก็ยังคงมีเสน่ห์ของมันอย่างไม่สิ่งอื่นทดแทนได้ เช่น ทฤษฎีบทสุดท้ายของแฟร์มา ที่เขากล่าวติดตลกขณะกำลังอ่านหนังสือคณิตศาสตร์ตอนหนึ่งว่า "ฉันพบวิธีพิสูจน์[ทฤษฎีบท]อันแสนอัศจรรย์แล้ว ติดที่ว่าขอบกระดาษนี้กว้างไม่พอที่จะจดลงไป" (I have discovered a truly marvellous proof of this, which this margin is too narrow to contain.)



อ่านถึงตรงนี้ถ้าใครยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะลองทำตาม ลองเริ่มจากหน้าว่างๆ ระหว่างเปลี่ยนบทก็ได้ โดยเลือกจดเฉพาะแค่บทที่อ่านแล้วชอบมากๆ ไม่ต้องทำทุกบทก็ได้ ลองวาดรูปที่คิดได้ขณะอ่าน หรือบันทึกข้อความว่าทำไมถึงชอบบทนั้นดูครับ

หลักสำคัญที่สุด (อย่างน้อยก็ที่ผมยึด) คือ การขีดเขียนลงไปนั้น ต้องไม่ทำให้ความหมายตั้งต้นที่หนังสือจะสื่อสูญเสียไป เช่น ไม่เขียนทับตัวอักษรที่มีอยู่แล้วจนอ่านข้อความต้นฉบับไม่ได้ ไม่วาดรูปทับรูปเดิม หรือจัดองค์ประกอบเพิ่มจนความหมายเปลี่ยน เป็นต้น

ส่วนถ้าใครตัดสินใจจะลองทำตามแล้ว ก็ดูด้วยนะครับว่าเจ้าของหนังสือยินยอมหรือเปล่า ไม่งั้นเดี๋ยวมีเรื่องจะหาว่าไม่เตือนนะ :p

No comments:

Post a Comment