Oct 2, 2007

มารู้จักส่วนประกอบในชื่อเพลงคลาสสิกกัน!

เพลงคลาสสิกส่วนมากมักมีชื่อยาวๆ
และไม่ค่อยยอมตั้งชื่อเฉพาะกันซะอีก
มีแต่ตัวเลขกับอักษรแปลกๆ ทั้งนั้น
มือใหม่เห็นแล้วก็หมดกำลังใจไปเลย

ที่จริงแล้วชื่อยาวๆ นี้สวยงามนะครับ
เพราะบอกรายละเอียดไว้ได้เยอะมาก

ชื่อเพลงคลาสสิกจะแบ่งส่วนได้ดังนี้
1. ชื่อผู้แต่งเพลง
อันนี้คงไม่ต้องอธิบายนะครับ ^^

...ซักหน่อยเหรอ อึ่ม... อะไรดีหละ?
งั้นเอาคนดังๆ ฟังง่ายๆ ไปละกันครับ
โมสาร์ท - คนนี้ผมไม่ค่อยได้ฟังบ่อย
เพราะแนวเพลงของพี่ท่านร่าเริงเกิน
เบโทเฟน - เพลงของเฮียมีพลังมาก
วิวัลดี - ถ้าตามมาจากหนังซีซันเชงค์
ก็ฟังเพลงสีฤดูของนักบวชคนนี้เลย

อ๋อ... บางครั้งส่วนนี้ก็อยู่ท้ายสุดครับ

2. ชนิดของการเล่น
เพลงคลาสสิกนั้น ไม่ได้มีแต่วงใหญ่
หรือที่เรียก ซิมโฟนี เพียงอย่างเดียว
แต่เพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีก็มีครับ
เรียกงานเพลงแนวนี้ว่า โซนาตา

ส่วน คอนแชร์โต คือมีวงออร์เคสตรา
กับเครื่องดนตรีเล่นประชันกันอยู่
และ โอเปรา จะมีนักร้องด้วยครับ

เอาไปแค่ 4 อย่างก่อนละกันครับ
มากกว่านี้เดี๋ยวจะเอียนเอาได้
(จะเจาะลึกให้ในครั้งหน้าครับ)

3. ลำดับที่ของเพลง
ส่วนมากบอกเป็นหมายเลข (No.)
ก็คือ เป็นเพลงที่เท่าไหร่ในชนิดนั้น
เช่น piano sonata no.14 ก็คือ
เพลงที่ 14 ที่เป็นเดี่ยวเปียนโน

บางครั้งบอกเป็นโอปุส (Op.)
คือ ลำดับเพลงตามที่พิมพ์ออกมา
เช่น violin concerto op.67 คือ
เพลงนี้เป็นเพลงที่ 67 ที่พิมพ์

4. บันไดเสียง
บอกว่าเพลงนั้นอยู่ในบันไดเสียงใด
ซึ่งบอกอารมณ์เพลงได้นิดหน่อย
คือถ้าเป็น major ก็จะสดใส ยิ่งใหญ่
ส่วน minor จะเหงา เศร้า หดหู่

ตรงนี้บอกแค่แนวที่น่าจะเป็นเท่านั้น
ที่เหลือต้องไปตีความในเพลงครับ
เพราะบางครั้งอารมณ์ก็ไม่เป็นตามนั้น

5. ท่อนที่เล่น
เป็นการบอกท่อนที่เล่นและความเร็ว
เช่น เพลงที่เป็นโซนาตา จะมี 3 ท่อน
ตามปรกติจะเป็น เร็ว-ช้า-เร็ว ครับ
ซึ่งจะเขียนบอกด้วยภาษาอิตาเลียน
อาจจะจำยาก แต่ถ้าชินก็ไม่มีปัญหา

เอาคำที่เห็นบ่อยๆ ไปก่อนนะครับ
เพรสโต Presto - เร็วมาก
อเลโกร Allegro - รวดเร็ว สดใส
อดันเต Andante - ช้ากลางๆ
ลาโก Largo - ช้าเนิบๆ

5 ข้อนี้คือชื่อที่ใช้ในสื่อทางอักษร
เมื่อต้องการพูดถึงเนื้อหาของเพลง
แต่ถ้าเป็นสื่อทางเสียง ก็ต้องดูชนิด
โดยถ้าเป็นเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรี
ก็จะมีชื่อของผู้เล่นเครื่องดนตรีนั้น

ถ้าเป็นเพลงที่เล่นโดยวงดนตรีเล็กๆ
ก็จะมีชื่อวง และอาจมีชื่อนักดนตรี

ถ้าเป็นวงใหญ่ๆ นักดนตรีเป็นร้อย
(ที่จริงไม่ต้องถึงร้อยก็ได้ครับ ^^")
ก็จะมีชื่อผู้อำนวยการเพลง ชื่อวง
และชื่อหัวหน้าวง/นักโซโล/นักร้องนำ

และที่ลืมไม่ได้ ก็คือเวลาที่ใช้เล่นเพลง
เพราะจากข้อ 5 แม้จะมีการกำกับไว้
แต่เพราะมันเป็นการกำกับที่ไม่สมบูรณ์
นักดนตรี/ผู้อำนวยการเพลงแต่ละคน
ก็ตีความหมายของเพลงแตกต่างกันไป
เราสามารถรู้อารมณ์ได้อีกหน่อยนึง
แม้จะยังไม่ได้เปิดฟังเพลงนั้นก็ตาม
(ถ้าอ่านโน้ตออก/เคยฟังเวอร์ชันอื่น)

แนะนำสำหรับคนที่จะซื้อแผ่นหน่อย
ถ้าท่านไม่เห็นชื่อวง/ผู้เล่นบนแผ่น
แล้วไม่อยากฟังเสียงสังเคราะห์
อย่าซื้อครับ เพราะผมโดนมาแล้ว
เอา .mid ที่คอมเล่นมาอัดเลยครับ

แบบนี้หาโหลดเองในเน็ตก็ได้... T_T

หมดแล้วครับสำหรับคำแนะนำที่มีให้
ที่เหลือก็ต้องลองไปฟังกันเองครับ

เหมือนดังสุภาษิตจีนที่ว่า
"อ่านหนังสือหมื่นเล่ม ไม่เท่าเดินทางหนึ่งลี้"

ขอให้มีความสุขกับการฟังเพลงครับ

3 comments:

  1. วงออเคสตา
    .........

    Orchestra !!!!!!

    ReplyDelete
  2. แฮะๆๆ เรื่องสะกดคำนี้ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงครับ
    จะระมัดระวังไม่ให้หลุดคำผิดออกมาอีก
    ขอบคุณที่ช่วยหาจุดผิดพลาดครับ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล

    ReplyDelete